Last updated: 11 มิ.ย. 2563 | 2070 จำนวนผู้เข้าชม |
หากใครเคยอ่านบทความเกี่ยวกับเพชรร่วงของเราแล้ว คงจะพอเดาออกกันบ้างคร่าว ๆ ว่าพลอยร่วงคืออะไร
…ใช่เลยค่ะ ไม่ต่างกัน “พลอยร่วง” เป็นการเรียกพลอยรวม ๆ ทุกชนิดค่ะ ไม่ว่าจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ ที่ผ่านการเจียระไนแล้ว แต่ยังไม่ได้ขึ้นตัวเรือนเป็นเครื่องประดับ
ถ้าพูดถึงพลอย หลายคนคงนึกถึงอัญมณีหลากสี ไม่ว่าจะเป็นทับทิม ไพลิน มรกต บุษราคัม ฯลฯ ในตลาดบ้านเรามักแบ่งพลอยออกเป็น 2 ประเภท นั่นคือ พลอยเนื้อแข็ง และพลอยเนื้ออ่อน ซึ่งจำแนกพลอยตามความแข็ง (Hardness) ของโมห์ (MOh’s scale)
พลอยเนื้อแข็ง (Precious Gemstones) เป็นพลอยที่มีความแข็งระดับ 9 ตาม โมห์ สเกล รองลงมาจากเพชร (เพชรมีความแข็งระดับ 10) ซึ่งพลอยในกลุ่มนี้ จะเป็นพลอยในตระกูลคอรันดัม (Corundum) ที่เรารู้จักกันดีในชื่อ ทับทิม (Ruby) บุษราคัม (yellow sapphire) ไพลิน ( blue sapphire) ฯลฯ พลอยในตระกูลคอรันดัมนี้ เป็นที่นิยมเนื่องจากมีความสวยงาม และเป็นรอยขีดข่วนได้ยาก
พลอยเนื้ออ่อน เป็นพลอยที่มีความแข็งต่ำกว่าระดับ 9 ตามโมห์ สเกล ตัวอย่างที่เราคุ้นเคยกันดี เช่น มรกต (Emerald) โทแพส (Topaz) โกเมน (Garnet) ควอตซ์ (Quartz)
เมื่อเรารู้ประเภทของพลอยคร่าว ๆ แล้ว ต่อไปเรามาดูว่าพลอยร่วงเหล่านี้นำไปทำอะไรได้บ้างค่ะ
นำไปขึ้นตัวเรือน
ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า พลอยมีความหลากหลายมากกว่าเพชร ไม่ว่าจะเป็นชนิดของพลอย สีสัน หรือรูปแบบการเจียระไน การซื้อพลอยร่วงจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ที่ผู้ซื้อจะสามารถเลือกพลอยเม็ดที่ชอบและใช่ได้ในแบบที่ต้องการ
สะสมเก็งกำไร
ของหายากมักมีมูลค่าสูง พลอยบางเม็ดมีมูลค่ามหาศาล เช่น ทับทิมจากพม่า หรือทับทิมสยาม มีสีแดงสวย ขนาดใหญ่ อาจมีราคาที่สูงกว่าเพชรในขนาดที่เท่ากัน ยิ่งในปัจจุบัน ทับทิมสยามของบ้านเราเป็นที่รู้จักและต้องการของต่างชาติ แต่เนื่องด้วยปัจจุบันนี้หาได้ยากมาก ทำให้มีราคาที่สูงมากตามไปด้วย
ถ้าจะพูดถึงการเลือกซื้อพลอยนั้น อาจจะมีรายละเอียดเจาะลึกลงไปที่พลอยแต่ละชนิด เพราะพลอยแต่ละชนิดก็มีความพิเศษเฉพาะตัว ขอแนะนำคร่าว ๆ พอเป็นแนวทางดังนี้
เลือกพลอยที่ใช่ในสีที่ชอบ
พลอยมีมากมายหลายชนิดค่ะ หรือแม้แต่พลอยชนิดเดียวกันก็มีความแตกต่างเฉพาะออกไปอีก ก่อนอื่นเราต้องเลือกว่าเราชอบพลอยชนิดไหน สีอะไร ชอบพลอยสีแดง หรือสีน้ำเงิน ถ้าชอบพลอยสีแดง เช่นทับทิม ชอบที่เจียระไนเหลี่ยม (Faceted) หรือหลังเบี้ย (Cabochon) พอเราได้ตามที่ต้องการแล้วก็ไปพิจารณาขั้นต่อไปเลยค่ะ
ราคาตลาดในช่วงที่เหมาะสม
ถึงพลอยจะไม่ได้มีราคากลางที่ตายตัวเหมือนเพชร (แต่มีราคาตลาดเป็นตัวกำหนดอยู่ โดยปัจจัยที่ทำให้ราคาของพลอยต่างกันออกไป ก็ขึ้นอยู่กับชนิดของพลอย สีของพลอย แหล่งกำเนิด ขนาด ความสะอาด การเจียระไน ฯลฯ) อีกทั้งยังขึ้นอยู่กับความชอบและรสนิยมส่วนบุคคลด้วย เช่น บางคนอาจชอบทับทิมที่มีสีแดงเลือดนก แต่บางคนอาจชอบสีแดงอมชมพู บางคนชอบทับทิมที่เจียระไนเป็นเหลี่ยม แต่บางคนอาจชอบทับทิมสตาร์ที่เจียระไนแบบหลังเบี้ย ซึ่งราคาก็จะมีความแตกต่างกันออกไปอีก
พลอยที่ผ่านการเผา
การเผาพลอยถือเป็นการปรับปรุงคุณภาพพลอยอีกวิธีหนึ่งค่ะ พลอยบางชนิดเป็นที่ต้องการของตลาดมากกว่า เช่น บุษราคัม (Yellow sapphire) มีความนิยมมากกว่า พลอยเขียวส่อง (Green sapphire) จึงมีการเผาพลอยเพื่อเปลี่ยนสี จากสีเขียวของพลอยเขียวส่อง ให้เป็นมีสีเหลืองเหมือนบุษราคัม หรือเผาพลอยเพื่อเพิ่มสีของทับทิม ให้มีสีแดงที่สดขึ้น ซึ่งพลอยที่ผ่านการเผานี้ จะมีราคาที่ถูกกว่าพลอยที่มีสีสวยเองตามธรรมชาติ
ระวังของเลียนแบบ
พลอยก็ยังเลียนแบบพลอยด้วยกันเองได้เลยค่ะ ยกตัวอย่างเช่น คอรันดัมสีแดง หรือทับทิม เป็นพลอยที่ได้รับความนิยมและมีราคาสูง อาจมีการนำพลอย สีแดงชนิดอื่น เช่น โกเมน มาเลียนแบบได้
พลอยสังเคราะห์
พลอยสังเคราะห์มีคุณสมบัติทางเคมี และโครงสร้างผลึกเหมือนพลอยธรรมชาติค่ะ แต่อาจจะไร้ซึ่งตำหนิ (พลอยแท้สีสวย ไร้ตำหนิ ก็มีนะคะ) ซึ่งการสังเกตนั้นอาจต้องใช้ความชำนาญสูง และใช้เครื่องมือในการช่วยวิเคราะห์ค่ะ
และคำแนะนำสุดท้ายในการเลือกซื้อพลอย คงหนีไม่พ้นการนำพลอยที่เราจับจ้องไว้ ไปตรวจสอบที่สถาบันอัญมณี เช่น GIT (The Gem and Jewelry Institute of Thailand), AIGS (Asian Institute of Gemological Sciences) ฯลฯ
เพื่อที่เราจะได้แน่ใจว่า พลอยที่เราจะซื้อเป็นพลอยแท้ จากแหล่งไหน ผ่านการเผามาหรือไม่ ของยิ่งมีมูลค่า เราก็ต้องใส่ใจเป็นเรื่องธรรมดา จริงไหมคะ