Last updated: 31 ก.ค. 2563 | 5206 จำนวนผู้เข้าชม |
เพชร (Diamond) ถ้าพูดถึงอัญมณีชนิดนี้ คงไม่มีใครไม่รู้จักใช่ไหมคะ เจ้าแร่เม็ดจิ๋วที่ผ่านการเจียระไน ให้ส่องประกายสะท้อนวิบวับจับตาจนกลายเป็น “เพชร” เม็ดงาม ที่คนทั่วโลกต่างนิยมใช้เป็นสัญลักษณ์แทนใจในโอกาสพิเศษต่าง ๆ
นอกจากประกายอันงดงาม และการกำเนิดที่แสนยากลำบากของเพชรแล้ว จึงไม่น่าแปลกใจเลย ที่จะทำให้อัญมณีเม็ดเล็ก ๆ เหล่านี้ มีราคาที่สูงตามไปด้วย และถ้าจะซื้อแหวนเพชรสักวง เพื่อเป็นของแทนใจให้คนพิเศษในวันสำคัญแล้วล่ะก็ เราจะรู้ได้อย่างไร ว่าเพชรที่เรากำลังจับจ้องไว้นี้ เป็นเพชรแท้ หรือเพชรเทียม
บทความนี้เราจะพาทุกคนไปทำความเข้าใจง่าย ๆ เกี่ยวกับวิธีดูเพชรแท้ และเพชรเทียมกันค่ะ
สิ่งแรกที่อยากจะชวนให้ทุกคนทำความรู้จัก และเข้าใจง่ายขึ้นนั่นคือ คุณสมบัติของอัญมณีเม็ดจิ๋วเลอค่าชนิดนี้ค่ะ
องค์ประกอบของเพชร
เพชรมีองค์ประกอบหลักถึง 95.5% เป็นธาตุคาร์บอน (C) ซึ่งถือเป็นองค์ประเดียวกับแกรไฟต์ (ที่นำมาใช้ทำไส้ดินสอ) ต่างกันตรงที่การจัดเรียงตัวของโครงสร้าง โดยเพชรจะมีโครงสร้างของอะตอมที่แข็งแรงกว่า
ความแข็ง (Hardness)
เพชรตัดเพชร หลายคนคงเคยได้ยินประโยคคุ้นหูนี้ใช่ไหมคะ เพชรถือเป็นอัญมณีที่มีความแข็งสูงสุด โดยมีความแข็งอยู่ระดับ 10 ในหน่วยวัดความแข็งของโมห์ (Moh’s scale)
ค่าความถ่วงจำเพาะ (Specific gravity)
เพชรมีค่าความถ่วงจำเพาะประมาณ 3.52 ซึ่งแร่หรืออัญมณีแต่ละชนิดก็จะมีค่าความถ่วงจำเพาะที่ต่างกันออกไป
การหักเหของแสง (Refractive index)
เพชรมีค่าดัชนีหักเหของแสงถึง 2.417 ทำให้เพชรมีความวาวเมื่อเทียบกับอัญมณีชนิดอื่น ๆ
ตำหนิ (Inclusions)
ตำหนิ หรือรอยแตกบางชนิด จะเป็นตัวบ่งบอกได้ว่าเป็นเพชรแท้ เนื่องจากมีในเพชรเท่านั้น เช่น รอยแตกของผิวที่เรียกว่า Trigon
---------------
เราทำความรู้จักนางเอกของเรื่องไปแล้วคร่าว ๆ คราวนี้เรามาดู “เพชรปลอม” หรือสิ่งที่นำมาใช้เลียนแบบเพชรกันบ้างค่ะ เพื่อความเข้าใจง่าย ๆ ขอจำแนกประเภทออกเป็น 3 ประเภทค่ะ
1. พลอยสีใส
โดยปกติแล้วเพชรที่เรานิยมมักจะเป็นเพชรใส ไม่มีสี หรือที่คนไทยมักเรียกว่า เพชรน้ำร้อย จึงมีการนำพลอยบางชนิดที่ใสไม่มีสี มาเลียนแบบเพชร เช่น white topaz ฯลฯ แต่เนื่องจากพลอยมีคุณสมบัติทางกายภาพและทางเคมี ที่ต่างจากเพชรอยู่แล้ว อีกทั้งความวาว หรือการเล่นไฟที่น้อยกว่าเพชร จึงสังเกตความแตกต่างได้ง่ายค่ะ
วิธีตรวจสอบเบื้องต้น : เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับเพชรโดยการนำไปส่องไฟ หรือส่องภายใต้แสงธรรมชาติ (แสงแดด) พลอยจะมีการเล่นแสงที่น้อยกว่าเพชร ความแวววาวจะน้อยกว่าเพชรค่ะ
2. เพชรเทียม หรือเพชรเลียนแบบ (Diamond Substitutes)
เพชรเทียมเป็นเพชรที่ทำการเลียนแบบขึ้นมา โดยมีองค์ประกอบทางเคมี และทางกายภาพต่างจากเพชรค่ะ ซึ่งในท้องตลาดมีหลายชนิด ขอยกตัวอย่างตัวที่เราเจอกันบ่อย ๆ นะคะ
CZ (Cubic zirconia)
หลายคนคงจะรู้จัก CZ ในนามว่า “เพชรรัสเซีย” กันใช่ไหมคะ เจ้า CZ หรือเพชรรัสเซียนี้ เป็นที่นิยมในตลาดบ้านเรา เนื่องจากมีราคาที่ถูก และมีความแวววาว แต่ถ้าเราสังเกตดี ๆ แล้ว จะมีความต่างจากเพชรแท้ เช่น เหลี่ยมเจียระไนที่ไม่คมชัด มีการหักเหของแสงที่มากกว่าเพชร
วิธีตรวจสอบบื้องต้น : เมื่อเปรียบเทียบกับเพชร โดยการนำไปส่องไฟ หรือส่องภายใต้แสงธรรมชาติ (แสงแดด) CZ จะเห็นสีรุ้งมากกว่าเพชรแท้ และถ้าเราส่องเหลี่ยมของ CZ โดยใช้ลูป (Loupe) เหลี่ยมจะไม่คมชัดเท่าเหลี่ยมเพชร
โมอิส (Moissanite)
เป็นเพชรเทียมที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับเพชรมากค่ะ เช่น ความแข็ง 9.25 ในหน่วยของโมห์ การหักเหของแสง 2.64-2.69 ในขณะที่เพชรมีการหักเหของแสงอยู่ที่ 2.417 ซึ่งการหักเหที่มากกว่านี้ เป็นตัวช่วยที่ทำให้สามารถแยกโมอีส ออกจากเพชรแท้ได้
วิธีตรวจสอบเบื้องต้น : เนื่องจากโมอิสมีการหักเหของแสงที่มากกว่าเพชร ทำให้เห็นเหลี่ยมที่ซ้อนกันของโมอีส ซึ่งขั้นตอนนี้อาจจะต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ และอุปกรณ์ในการช่วยวิเคราะห์ค่ะ
3. เพชรสังเคราะห์ (Synthetic diamond)
เป็นเพชรที่มีสูตรเคมี และคุณสมบัติทางแสงเหมือนเพชรธรรมชาติ เนื่องจากใช้เทคนิคจำลองการเกิดเพชรภายใต้ความดันและอุณหภูมิสูง เลียนแบบการเกิดของเพชรแท้
เราอาจคุ้นหูเพชรสังเคราะห์นี้กันในนาม CVD (Chemical Vapor Deposition) และเนื่องจากมีโครงสร้างทางเคมี และกายภาพคล้ายเพชรมาก จึงทำให้แยกออกจากเพชรได้ยาก นอกจากจะต้องใช้เครื่องมือระดับสูงในการแยก
วิธีตรวจสอบเบื้องต้น : เพชรสังเคราะห์มักจะไม่มีตำหนิ ถ้าเราเจอเพชรไม่มีตำหนิในราคาถูก ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าอาจเป็นเพชรสังเคราะห์ เนื่องจากในธรรมชาติ เพชรที่ไม่มีตำหนิจะมีราคาที่สูงมาก
สรุป
อ่านมาถึงตรงนี้แล้วจะเห็นว่า ถ้าดูเพชรแท้และเทียมด้วยตาเปล่า ต้องอาศัยประสบการณ์ที่สั่งสมมานาน และถ้าต้องการความแม่นยำ ต้องอาศัยเครื่องมือต่าง ๆ ช่วยในการวิเคราะห์
เราขอแนะนำทางเลือกง่าย ๆ สำหรับการเลือกซื้อเพชรค่ะ ในปัจจุบันมี Lab ที่น่าเชื่อถือหลายสถาบัน ที่ออกใบรับรองเพชรแท้ เช่น GIA (Gemological Institute of America ), HRD ฯลฯ และการเลือกร้านที่มีความน่าเชื่อถือ ไว้ใจได้ ก็ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในการซื้อเพชรค่ะ
อ้างอิงข้อมูลจาก :
http://www.dmr.go.th/main.php?filename=diamond
http://webmineral.com
https://www.gia.edu/gems-gemology/winter-1997-synthetic-moissanite-nassau